เทคโนโลยี ไวร์เลส สมาร์ท การ์ด (Wireless Smart Card )

หน้าแรก บ้านอัตโนมัติ สมาร์ทโฮม เทคโนโลยี ไวร์เลส สมาร์ท การ์ด (Wireless Smart Card )

เข้าชม 1,398

สมาร์ท การ์ด (Smart Card) เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีการนำมาประยุกต์ใช้ในโลกธุรกิจมาไม่น้อยกว่า 5 ปี หากท่านผู้อ่านนึกภาพไม่ออกว่าสมาร์ท การ์ด นี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร ผมขอให้ท่านนึกถึงภาพบัตรเอทีเอ็มที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่มีชิพตัวเล็กๆ ติดอยู่ที่ด้านหน้าของบัตร ซึ่งภายในตัวชิพจะเก็บข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำรายการ (Transaction) ผ่านเครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด เช่น หมายเลขบัตรเครดิต และแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานพอสมควร

หากจะถามกันตรงๆ ว่า การใช้สมาร์ท การ์ด นั้นประสบความสำเร็จมากเพียงใด ผมขอตอบว่า "ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร" ทั้งนี้เพราะตัวสมาร์ท การ์ด เองนั้นมีข้อจำกัดในการนำไปใช้จริงหลายประการ เช่น เวลาใช้งานจะต้องใช้เครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด เท่านั้น (Smart Card Reader) แต่สิ่งที่ผมพูดถึงข้างต้นกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาสมาร์ท การ์ด รุ่นใหม่เพื่อแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ของสมาร์ท การ์ด ในอดีต โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ไวร์เลส สมาร์ท การ์ด (Wireless Smart Card)"

เท่าที่ผมติดตามข่าวสารข้อมูลของไวร์เลส สมาร์ท การ์ดนี้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่า "นี่คืออนาคตของสมาร์ท การ์ด อีกครั้ง" ส่วนรายละเอียดของไวร์เลส สมาร์ท การ์ด ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านกันได้เลย

 

ประเภทของสมาร์ท การ์ด
เราสามารถแบ่งประเภทของสมาร์ท การ์ด ตามรูปแบบการใช้งานออกเป็น 3 ประเภทคือ

- คอนแทค สมาร์ท การ์ด (Contact Smart Card)
เวลาใช้งานจะต้องนำสมาร์ท การ์ด ไปรูดที่เครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด เพื่ออ่านข้อมูลจากชิพไปใช้งาน

- คอนแทคเลส สมาร์ท การ์ด (Contactless Smart Card) 
เวลาใช้งานจะต้องนำสมาร์ท การ์ด ไปอ่านที่เครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด (ให้ตำแหน่งของชิพอยู่ตั้งฉากกับเครื่องอ่านแต่ไม่จำเป็นต้องวางแนบกับเครื่องอ่าน หรือที่บางท่านเรียกว่า "อ่านแบบหน้าสัมผัส" เพื่ออ่านข้อมูลจากชิพไปใช้งาน

- ไวร์เลส สมาร์ท การ์ด (Wireless Smart Card)
เวลาใช้งานจะต้องนำสมาร์ท การ์ด ไปอ่านที่เครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด โดยอาศัยคลื่นวิทยุในการติดต่อสื่อสารแต่จะสามารถทำงานได้ภายในระยะที่กำหนด เพื่ออ่านข้อมูลจากชิพไปใช้งาน

 

ลักษณะภายนอก
หน้าตาของไวร์เลส สมาร์ท การ์ด (ต้นแบบ) จะเหมือนกับสมาร์ท การ์ดทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นบัตรเครดิตที่เป็นสมาร์ท การ์ด ที่หน้าบัตรด้านขวามือจะเป็นโลโก้ของวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ด ส่วนด้านซ้ายจะมีชิพเล็กๆ (สีเหลืองทอง) ปรากฏอยู่ซึ่งไว้ใช้เก็บข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการ นอกจากนี้จะมีการฝังชิพอีกตัวหนึ่งเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกับเครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด ซึ่งเรียกว่า "Radio-frequency Chip" หรือบางทีก็เรียกว่า "RF Identification" แต่บทความต่างประเทศส่วนใหญ่นิยมเรียกย่อๆ ว่า "RFID" แต่เท่าที่ทราบในอนาคตตัวชิพที่ฝังอยู่ที่หน้าบัตรสมาร์ท การ์ด นั้นอาจจะถูกพัฒนาลดลงให้เหลือเพียงชิพ RFID เพียงตัวเดียวแต่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมทุกประการ

 

หลักการทำงาน
ตัวไวร์เลส สมาร์ท การ์ด นั้นจะใช้ชิพ RFID ในการติดต่อสื่อสาร และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครื่องอ่านสมาร์ท การ์ดผ่านคลื่นวิทยุที่ความถี่ 13.56 MHz โดยมีข้อจำกัดว่าตัวไวร์เลส สมาร์ท การ์ด นั้นจะต้องอยู่ในบริเวณพื้นที่ๆ ไม่ห่างจากเครื่องอ่านสมาร์ท การ์ด มากนัก เช่น 10 เซนติเมตร โดยไม่จำเป็นจะต้องนำไวร์เลส สมาร์ท การ์ด มาอ่านที่เครื่องอ่านแต่อย่างใด

ดังนั้นในแง่ของการนำไปใช้งานนั้น ผู้ใช้ไวร์เลส สมาร์ทการ์ด จะเกิดความสะดวกในการใช้งานมากกว่าการใช้สมาร์ท การ์ด แบบคอนแทค สมาร์ท การ์ด และแบบคอนแทคเลส สมาร์ท การ์ด

 

มาตรฐานที่รองรับ
ในอดีตปัญหาประการหนึ่งของไวร์เลส สมาร์ท การ์ดที่บริษัทผู้ผลิตชิพ RFID รายใหญ่ เช่น Philips Semiconductors (http://www.semiconductors.philips.com) และบริษัทผู้พัฒนาโซลูชั่นรายใหญ่ เช่น Ingenico (http://www.ingenico.com) กังวลใจอยู่คือ "มาตรฐานกลางจะเป็นอย่างไร" ซึ่งปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปลายปี 2001 โดยทาง International Standards Organization - ISO (http://www.iso.org) ได้กำหนดมาตรฐานในของไวร์เลส สมาร์ท การ์ด ที่หมายเลขอ้างอิง "ISO-14443"

นอกจากหมายเลขมาตรฐานนี้แล้วยังมีหมายเลขอ้างอิงที่ "ISO-15693" ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นหากท่านผู้อ่านสนใจในเรื่องไวร์เลส สมาร์ท การ์ดสามารถหาข้อมูลได้จากหมายเลขอ้างอิงดังกล่าวได้เลย

 

บทสรุป
แม้ว่าเรื่องไวร์เลส สมาร์ท การ์ด จะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับบ้านเรา แต่มีปัจจัยตัวหนึ่งที่ผมเชื่อว่าน่าจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของตลาดไวร์เลส สมาร์ท การ์ด ก็คือ ผู้บริหารของ Philips Semiconductors ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง CNET เมื่อเร็วๆ นี้ว่า "ต้นทุนรวมของการผลิตชิพ RFID นั้นต่ำกว่าการผลิตชิพในปัจจุบันค่อนข้างมาก ประกอบกับมีผู้ให้การสนับสนุนแนวทางนี้มากขึ้นตามลำดับ เช่น Texas Instruments (http://www.ti.com), SchlumbergerSema (http://www.slb.com/schlumbergersema) ดังนั้นตลาดของไวร์เลส สมาร์ท การ์ด ยังไปได้อีกไกล โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ในธุรกิจบ้านอัตโนมัติ